Loading...
เมนู
OSAKA INFOToppage
เกี่ยวกับโอซาก้า
ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับโอซาก้า
กีฬาในโอซาก้า
วัฒนธรรมป๊อปในโอซาก้า
เหตุการณ์
กำหนดการเดินทาง
สำหรับนักเดินทางมือใหม่
เพลิดเพลินกับสถาปัตยกรรม・ศิลปะ
สำรวจประวัติศาสตร์!
เพลิดเพลินกับธรรมชาติและภูมิทัศน์
ท่องเที่ยวด้วยรถไฟ
สถานที่ท่องเที่ยวและประสบการณ์
กีฬาและสันทนาการ
นักกินและดื่ม
ประสบการณ์ตรง
ช้อปปิ้ง
ธรรมชาติ
ศิลปะ
ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม
ประสบการณ์ตามฤดูกาลและสถานที่ท่องเที่ยว
จุดเด่น
PICK UP
การผลิตในโอซาก้า
จุดแนะนำ
ค้นพบ!
ข้อมูล
คำถามที่พบบ่อย
หนังสือเดินทาง
ข้อมูลท่องเที่ยว
ศูนย์ข้อมูลนักท่องเที่ยว
โรงแรม
เข้าไป
แผนที่พื้นที่และดาวน์โหลดคู่มือ
จุดเด่น

ไปที่พิพิธภัณฑ์ Cupnoodle!

ไม่ต้องมีคำบรรยายสำหรับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เพราะทุกคนต่างก็คุ้นเคยกันดี บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นอาหารที่เหมาะกับทุกสถานการณ์ไม่ว่าจะระหว่างมื้ออาหาร, มื้อดึก, ทำล่วงเวลา หรือเป็นอาหารฉุกเฉินช่วงที่มีภัยพิบัติ จนได้กลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในชีวิต โดยที่ญี่ปุ่นมีอัตราบริโภคในประเทศต่อปีที่ 5.4 ล้านชาม (ปี 2014 / สมาคมอุตสหกรรมอาหารสำเร็จรูปญี่ปุ่น) หรือก็คือ 42.4 ชามต่อประชากร 1 คนใน 1 ปี หรือเฉลี่ยทุกคนกินเดือนละ 3 - 4 ครั้ง เรียกได้ว่าเป็นอาหารที่รักของทุกคนในชาติ!

และแน่นอนว่าไม่ใช่แค่ญี่ปุ่น จำนวนการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของโลกต่อปีคือ 102.7 พันล้านชาม (แหล่งข้อมูลเดียวกัน) ซึ่งเป็นจำนวนที่มหาศาลจนไม่สามารถจินตนาการได้ เพราะรับประทานกันเกือบทุกประเทศทั่วโลก จึงเรียกได้ว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็น "อาหารของโลก" ปัจจุบันนักบินอากาศก็เอาติดตัวไป "ท่องอวกาศด้วย" ที่จริงในบ้านของผู้เเขียนก็มีบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเก็บไว้ 5 ซอง ไม่ว่าจะกลับบ้านช้า หรือช่วงขัดสน สิ่งนี้ก็ช่วยมาจนนับไม่ถ้วน ใครกันที่เป็นคนคิดของชั้นยอดอย่างนี้

ดังนั้นในวันนี้จะขอแนะนำ "พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์การค้นพบบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป" สถานที่ชื่อดังในเมือง Ikeda โอซาก้า ซึ่งที่นี่เองก็เป็น "บ้านเกิดของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป" ในปี 1958 บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปอันแรกของโลก "ราเมนไก่" ที่คุ้นเคยกันว่า "อร่อยทันที, อร่อยมาก" ก็กำเนิดขึ้น โดยเกิดใน "กระท่อมวิจัยเล็กๆ" ที่ตั้งในสวนบ้านของ Ando Momofuku ผู้คิดค้นและผู้ก่อตั้ง Nissin Foods ที่อยู่ในเมือง Ikeda โดย "พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์การค้นพบบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป" ที่ก่อตั้งในปี 1999 นี้ ตั้งขึ้นเพื่อบอกเล่าประวัติศาสตร์และความสำคัญของ "การประดิษฐ์และค้นพบ" บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป

ภายในไม่เพียงแต่คุณจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับการเกิดของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นขั้นๆ ทั้งประวัติศาสตร์การพัฒนา, วิธีการผลิต แต่ยังมีให้คุณได้ทำบะหมี่ถ้วยในแบบของคุณเองที่ "My Cup Noodles Factory" (ไม่ต้องจอง, มีค่าใช้จ่าย) และมุมให้คุณได้ลองทำราเมนไก่ด้วยตนเองที่ "Chicken Ramen Factory" (ต้องจอง, มีค่าใช้จ่าย) ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมาก และน่าสนุกสนาน!

ตั้งแต่กำเนิดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปถึง "ท่องอวกาศ ปี 2005

พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์การค้นพบบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
สามารถเดิน 5 นาที จากสถานี Ikeda Sta. บนสาย Hankyu Takarazuka Line ไปทางทิศใต้ตามถนน "Men Road (ถนนบะหมี่)"ก็จะพบทันที ข้างหน้าของพิพิธภัณฑ์เป็นรูปปั้นสำริดของ Ando Momofuku บิดาของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ยืนยิ้มอยู่บนฐานบะหมี่ถ้วย ในมือหนึ่งถือถุงราเมนไก่ พอเข้าไปแล้ว หยิบแผนที่ของพิพิธภัณฑ์ตรงทางเข้ากันไปด้วยนะ!

กระท่อมวิจัยเล็กๆที่เกิด "ราเมนเวทมนตร์

อย่างแรกที่สะดุดตาก็คือ "กระท่อมวิจัย" ของคุณ Ando ที่จำลองขึ้นมาใหม่ เท่าที่เห็นก็เป็นกระท่อมไม้เล็กๆ ธรรมดา เหมือนที่อยู่ในเรื่องลูกหมู 3 ตัว...... ที่อยู่ด้านนอกคือจักรยานที่ใช้ขนถุงแป้ง กับหุ่นจำลองไก่ก่อนจะถูกเอาไปทำน้ำซุป ที่ทางเข้ามีการจำลองบะหมี่ที่เอามาแผ่ตากให้แห้งด้วย กระท่อมมีขนาด 4.5 เสื่อ พร้อมหลอดไฟเปลือยกับนาฬิกาลูกตุ้ม และเครื่องครัวอย่าง หม้อจีน, ชาม, เครื่องชั่ง, ทัพพี, ตะแกรง, และหม้อตุ๋น ก่อนมาในหัวมีภาพว่า การคิดค้นบะหมี่กิ่งสำเร็จรูปน่าจะไฮเทค แต่พอรู้ว่าทำใน "ครัว" แบบนี้ ก็ตกใจอยู่ ได้ยินว่าคุณ Ando มุ่งมั่นพัฒนาบะหมี่กิ่งสำเร็จรูปอยู่ที่นี่ อดหลับอดนอนนาน 1 ปี

โดยคุณ Ando มีเป้าหมายคือ บะหมี่ที่ "กินได้ง่าย เมื่อไหร่ก็ได้ ที่ไหนก็ได้ และเก็บไว้ที่บ้านได้", "แค่เติมน้ำร้อนก็กินได้ทันที" ในกระท่อมวิจัยคุณสามารถเห็น คุณ Ando ลองไอเดียหลายๆอย่างในการพัฒนา อย่างเช่น กาต้มน้ำขนาดใหญ่ เพื่อให้เวลาเทซุปที่เสร็จแล้วลงบะหมี่ ได้รสชาติที่สม่ำเสมอ เสร็จแล้วก็ใส่ลงในตระแกรงลวดทำเอง นำลงไปทอดน้ำมันในหม้อจีนขนาดใหญ่ แล้วทำให้แห้งโดยทันที (คุณสามารถดูและได้ยินเสียงการทอดในหม้อจากวิดิทัศน์) ซึ่งส่วนนี้เขาได้ความคิดมาจากเทมปุระที่ภรรยาทำ เมื่อบะหมี่ถูกทอดในน้ำมัน น้ำภายในจะถูกดันออกมาจนแห้ง ้เกิดเป็นรูบนเส้นจำนวนมาก (แบบเดียวกับแป้งเทมปุระ) ซึ่งเมื่อแห้งก็สามารถเก็บเอาไว้ได้ และเมื่อเติมน้ำร้อนเข้าไป น้ำร้อนจะไหลเข้าไปในรูบนเส้น ทำให้กลับคืนสู่สภาพเดิม

แล้วทำไมซุปต้องเป็นไก่ล่ะ ในวันหนึ่ง ระหว่างที่เตรียมอาหาร ไก่ที่่เลี้ยงไว้ข้างกระท่อม อยู่ๆก็อาละวาดขึ้นมา ลูกชายที่ยังเด็กได้เห็นและตกใจ จนไม่สามารถทานเนื้อไก่ได้ แต่ถ้าเป็นราเมนซุปกระดูกไก่แล้วยินดีทานทันที ตอนนั้นเขาก็เลยคิดจะทำซุปรสไก่ หลังจากนั้น เขาก็กล่าวว่า "ในโลกไม่มีประเทศไหนที่ไม่กินไก่ ดังนั้นรสไก่จึงเป็นที่ยอมรับได้ในระดับสากล

แล้วในปี 1958 บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรุ่นบุกเบิก "ราเมนไก่" ก็สมบูรณ์ ในตอนนั้น ราเมนไก่ที่แค่เติมน้ำร้อนก็ทานได้ ถูกเรียกว่า "ราเมนเวทมนตร์" เพราะ "ปรุงได้ง่าย", "เก็บได้ในอุณหภูมิห้อง", "ไม่แพง", "สะอาดปลอดภัย" และยัง "อร่อย" สิ่งเหล่านี้คือ "เวทมนตร์" ของราเมนไก่ "ราเมนเวทมนตร์" ที่คุณ Ando ให้กำเนิด ตอนนี้เป็นที่รักไปทั่วโลก เป็นการคิดค้นที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งเปลี่ยนแปลงการกินของโลกในศตวรรษที่ 20

ตามรอยบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป

หลังออกจากกระท่อมวิจัย จะพบกับการจัดแสดงที่ผนังสีขาวด้านซ้ายมือที่ทอดยาว การจัดแสดงนี้แนะนำถึงพัฒนาการของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เช่น การขยายตัวหลังจากที่คุณ Ando คิดค้น จนการกลายมาเป็นสิ่งที่ทุกคนบนโลกสามารถรับประทานได้ มีทั้งภาพยนตร์, ภาพถ่าย และอุปกรณ์ที่ถูกใช้จริงให้ชม

กำเนิดราเมนไก่!

อย่างแรกก็คือ ทำไมต้องเป็น "บะหมี่" จากจอภาพบนผนัง เป็นภาพเมืองหลังจากสงคราม ซึ่งคุณ Ando เห็นคนยืนต่อแถวหน้าร้านราเมนยาวกว่า 20 เมตร ในย่านตลาดของโอซาก้า ในคืนหลังสงครามช่วงฤดูหนาว ทั้งที่อากาศหนาวขนาดนี้ แต่ผู้คนก็ยังอดทนรอ เพื่อให้ได้ราเมน 1 ชาม ดังนั้นการ "กิน" คือสิ่งสำคัญของผู้คน...... จากความรู้สึกตอนนั้นเองที่นำไปสู่การคิดค้นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป

สู่การผลิตราเมนไก่จำนวนมาก

ราเมนไก่ที่ทำสำเร็จนั้น ตอนแรกทำโดยครอบครัว ภรรยาทำซุป พวกเด็กช่วยในการบรรจุถุง เสร็จแล้วทุกคนก็แพ็คใส่ลัง เพื่อขนออกไปขาย เป็นเช่นนี้ทุกวัน จนวันหนึ่ง มีการจัดให้ทดลองชิมในห้างสรรพสินค้าของโอซาก้า ซึ่งราเมนไก่ก็ถูกใจเหล่าแม่บ้าน! และประสบความสำเร็จอย่างสูง เพราะว่าแค่ใส่น้ำร้อนก็ทำได้ คุณ Ando เห็นการตอบรับที่ดีเช่นนั้น จึงคิดอยากให้ผู้คนได้กินราเมนนี้ทั่วประเทศ เลยตั้งโรงงาน โดยมีเป้าหมายให้ผลิตเป็นจำนวนมากด้วยระบบอัตโนมัติทั้งหมด

กำเนิดบะหมี่ถ้วย

คุณ Ando ซึ่งอยากนำบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไปเผยแพร่ทั่วโลก ได้นำราเมนไก่ไปที่อเมริกา ซึ่งคนอเมริกาก็ให้ความสนใจ แต่มีปัญหาคือ ที่อเมริกาไม่มีทั้งชามและตะเกียบ แต่ผู้ซื้อในอเมริกาเอาราเมนไก่หักลงถ้วยกระดาษ เติมน้ำร้อน แล้วเริ่มใช้ส้อมรับประทาน สิ่งนี้ทำให้คุณ Ando เกิดแรงบันดาลใจขึ้น ใช่แล้ว "เส้นในถ้วย"! จนในปี 1971 ก็มี "บะหมี่ถ้วย" ออกมา นี่คือ "สุดยอดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป" ที่ต้องการแค่ "น้ำร้อน

ไอเดียอื่นๆของคุณ Ando ก็ถูกนำมาใช้ด้วย เช่น การบรรจุให้ตัวเส้นที่อยู่กลางถ้วย "ลอยอยู่ตรงกลาง" ซึ่งช่วยแก้ปัญหาเรื่องการแตกของทั้งถ้วยและเส้น นอกจากนี้เวลาเทน้ำร้อน น้ำจะไปหมุนอยู่ล่างเส้น ช่วยให้คืนตัวอย่างทั่วถึง นอกจากนั้น ฝาที่เป็นฟิล์มก็ได้ไอเดียมาจากภาชนะของถั่วเมคคาเดเมียที่แจกบนเครื่องบิน ทำให้เข้าใจเลยว่า เขาใช้ความสร้างสรรค์ในด้านรายละเอียดจริงๆ

สู่อาหารของโลก

ด้วยเหตุนี้ ต่างประเทศก็สามารถรับประทานบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปได้ งานแสดงส่วนต่อไปจะทำให้เห็นว่า สิ่งนี้แพร่หลายไปทั่วโลกขนาดไหน โดยบนแผนที่โลกขนาดใหญ่บนกำแพง แสดงจำนวนการบริโภคโดยประมาณต่อปีด้วยรูปถ้วยบะหมี่สีแดง ยกตัวอย่าง อังกฤษ 3.8, ไนจีเรีย 15.2, เวียดนาม 50, อเมริกา 42.8, จีน 444......อ้อ..หน่วยทั้งหมดเป็นร้อยล้าน

นอกจากนี้ยังมีบะหมี่ถ้วยจากทั่วโลกแสดงเอาไว้ ทั้งรสครีมมะเขือเทศ, รสผักอัดแน่น, รสที่เต็มไปด้วยความเผ็ดร้อนของเครื่องเทศ และอื่นๆ ซึ่งทำออกมาให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของประเทศ และให้ถูกปากผู้คน อ้อ..ผมเองก็เคยกินรสต้มยำกุ้งของไทย รสชาติทั้งเผ็ดร้อนและเปรี้ยว อร่อยมากเลย

บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสู่อวกาศ

26 กรกฎาคม 2005 กระสวยอวกาศ Discovery ทะยานขึ้นได้สำเร็จ Noguchi Soichi นักบินอวกาศชาวญี่ปุ่น ได้นำเอา "Space Ram" อาหารอวกาศแบบะหมี่อันแรกของโลกขึ้นไปด้วย โดยมีซุป 4 ประเภท คือ โชยุ, มิโสะ, แกงกะหรี่, และกระดูกหมู โดยผลิตให้สามารถกลับสู่สภาพเดิมในอุณหภูมิจุดเดือดในอวกาศที่ 70˚C แม้ในสภาพไร้แรงโน้มถ่วงที่เปลี่ยนการรับรสชาติ แต่รสชาติของมันไม่ได้ต่างไปจากบนโลกเลย ทำให้คุณ Noguchi "ตกใจ" กับรสชาติความอร่อย คุณ Noguchi ที่รับประทานราเมนภายในกระสวยอวกาศดูดีใจมาก หลังจากคุณ Noguchi กลับมายังโลก เขาก็นำเอาภาพถ่ายของ (บริเวณ) "พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์" ที่ถ่ายจากในอวกาศมาที่นี่ด้วย ซึ่งผมดูไม่ออกว่าพิพิธภัณฑ์อยู่ตรงไหนแต่ว่ามีตัวอักษรเขียนว่า "อยู่นี่" และลูกศรชี้เอาไว้ ลองมาจ้องกันดู!

สำหรับเหล่าคุณพ่อ ลองมาดูที่ "ร่องรอยของ Ando Momofuku" ซึ่งจัดแสดงภาพถ่ายของคุณ Ando, เหรียญรางวัล และ ความหวังในปีใหม่ที่เขียนด้วยลายมือตนเองอยู่ และยังมี "คำพูดของ Momofuku" ซึ่งรวมคำพูดที่โด่งดังเอาไว้ อย่าง "เมื่อการกินเพียงพอ สังคมก็สงบสุข" หรือ นิตรสาร TIME เอเชีย ฉบับพิเศษ "วีรบุรษแห่งเอเชียใน 60 ปี" ที่ คุณ Ando ก็ได้เป็นหนึ่งในนั้น

ของขึ้นชื่อของพิพิธภัณฑ์! บะหมี่ถ้วยแบบเฉพาะตัว และราเมนไก่ทำมือ

ต่อไปคือกิจกรรมหลักของวันนี้ มุมทำบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป! "My Cup Noodle Factory" ที่ให้เลือกน้ำซุปและ และส่วนผสมเอง เพื่อทำบะหมี่ถ้วยแบบเฉพาะตัว และ "Chicken Ramen Factory" ที่ให้ทำเส้นราเมนจากแป้งด้วยตัวเอง ไม่ว่าอันไหนก็อยากลอง!

My Cup Noodle Factory

ก่อนอื่นไปที่ "My Cup Noodle Factory" ซึ่งอยู่ด้านในของพิพิธภัณฑ์ ที่นี่มีทั้งกลุ่มวัยรุ่น, คู่รัก, ครอบครัวแน่นขนัด รวมทั้งนักท่องเที่ยวเอเชียจำนวนมาก เช่น คนจีน ที่นี่เป็นมุมที่จะให้คุณวาดภาพลงถ้วยของบะหมี่ถ้วย, เลือกส่วนผสม และซุปที่ชอบ เพื่อทำเป็นบะหมี่ถ้วยในแบบฉบับของตนเอง เอาล่ะ มาเริ่มกันเลย !

เริ่มต้นที่ซื้อ "ถ้วย" ที่เครื่องขายของอัตโนมัติ ราคา 300 เยนต่อถ้วย สามารถซื้อได้เท่าที่ต้องการ คุณผู้หญิงที่อยู่ข้างหลังผมซื้อ 3 ถ้วย เมื่อได้ถ้วยแล้วก็ ทำความสะอาดมือ อ้อ..เมื่อเป็นเรื่องอาหารแล้ว ความสะอาดต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง

ต่อจากนั้นก็ออกแบบบนที่ว่างของถ้วยด้วยตัวเอง โดยใช้ปากกาสี พอลองมองไปข้างเคียง มีทั้งคนที่วาดลายดอกไม้สีสันสดใส, คนที่วาดรูปคาแร็คเตอร์ของราเมนไก่ที่เรียกว่า "Hiyoko-chan", มีคนที่วาดสิ่งมีชีวิตอะไรสักอย่างอยู่ด้วย......แล้วตัวเองล่ะ ผมที่ไม่มีความเชื่อมั่นในเรื่องวาดภาพ คิดจนถี่ถ้วนแล้วก็ใช้ปากกาสีเขียวเขียนตัวอักษรหนาๆ ว่า "อร่อย" มันก็น่าจะอร่อย แต่เล่นเขียนมาตรงๆแบบนี้ ผมก็ยังประหลาดใจกับตัวเองเหมือนกัน

ยังไม่ย่อท้อ พอได้ถ้วยของตัวเองมาแล้ว ก็ไปที่เคาน์เตอร์ เสร็จแล้วพี่สาวด้านในก็รับถ้วยไปด้วยรอยยิ้ม แล้วเอาไปวางที่จุดใส่เส้น แต่คนที่สั่งเดินเครื่องให้เอาเส้นลงคือ เราเอง หลังจากหมุนที่จับตามเข็มนาฬิกา 6 รอบแล้ว บะหมี่ก็ลงมาในถ้วยอย่างสวยงาม อย่างกับที่เห็นในการจัดแสดงก่อนหน้านี้ ที่นี้เราจะได้สัมผัสได้กับ "การคิดแบบย้อนกลับ" ล่ะ

ต่อไปก็ซุป ซึ่งมีให้เลือกจาก 4 ชนิด ทั่วไป (โชยุ), ซีฟู้ด, แกงกะหรี่, และพริกมะเขือเทศ โดยทั่วไปผู้หญิงจะชอบ ซีฟู้ดไม่ก็พริกมะเขือเทศ ส่วนผู้ชายก็รสทั่วไปหรือแกงกะหรี่ คราวนี้ผมเอาแบบมาตราฐานทั่วไป ส่วนคุณพนักงานแนะนำมาคือ "แกงกะหรี่ใส่ชีสรสเข้มข้น

จากนั้นก็ถึงคราวส่วนผสม โดยให้เลือก 4 จาก 12 แบบ เช่น กุ้งอบแห้ง, คามะโบโกะรสปู, ชาชู, ชีส, ข้าวโพด และอื่นๆ ไหนๆแล้วผมก็เลยเลือกของที่ไม่มีขายทั่วไปอย่าง ลูกชิ้นปลานารุโตะรูป Hiyoko-chan และส่วนผสมพิเศษช่วงระยะเวลาจำกัดอย่าง หน่อไม้ฝรั่งและไข่ การได้เลือกโดยที่ต้องลองคิดถึงรสชาติไปด้วยก็สนุกดี หลังจากนั้นก็ปิดฝาห่อด้วยฟิล์ม และใส่ในแอร์แพ็คเกจ แล้วก็จะได้ "My Cup Noodle" ออกมา......่ที่ผมเขียนบนถ้วยว่า "อร่อย" มันก็ดูน่าจะอร่อยจริงๆ ถึงผมจะพูดเองก็เถอะ

สำหรับใครที่ทำแล้วเกิดหิว! แนะนำให้มาที่ห้องลองรสชาติกัน ที่นี่สามารถซื้อบะหมี่จากเครื่องขายของอัตโนมัติได้ รวมทั้งของเฉพาะของภูมิภาค ที่โดยทั่วไปซื้อไม่ได้ในคันไซ หรือบะหมี่ถ้วยที่ขายเฉพาะในชั้นธุรกิจ (ลูกชิ้นปลานารุโตะวาดเป็นรูปเครื่องบินแทน) ให้ลองรับประทานได้ ส่วนอุด้ง Donbei Kitsune Udon ที่รสชาติซุปของทางฝั่งตะวันออกและตะวันตกของญี่ปุ่นจะต่างกัน ก็มีขายอยู่ทั้งคู่ ให้ลองทานเทียบกันได้ ในขณะที่ชมวิวภายในสวน ก็ขอให้นึกถึงความยากลำบากและความฉลาดคิดฉลาดทำ ที่ได้เห็นได้เรียนรู้เมื่อครู่ด้วยนะ! (บะหมี่ที่ทำจาก My Cup Noodle Factory/ Chicken Ramen Factory ไม่สามารถรับประทานที่นี่ได้ สินค้าอาจมีการเปลี่ยนแปลง)

Chicken Ramen Factory

เอาล่ะตอนนี้บ่าย 2:25 ผมก็ค่อยๆขึ้นไปที่ชั้น 2 เพื่อร่วมกิจกรรม "Chicken Ramen Factory" โดยผู้เข้าร่วมจะแบ่งเป็นกลุ่มนั่งตามโต๊ะในห้อง ที่เหมือนห้องฝึกทำอาหารขนาดใหญ่ ผู้ร่วมโต๊ะเดียวกับผมคือ คุณพยาบาล 4 คน ที่มาจากเกียวโต, เด็กนักเรียนชายประถม 3 กับคุณแม่, และชายอาวุโส 2 ท่านที่อยู่ใกล้เคียง แต่ละคนจะได้ใส่ผ้ากันเปื้อนและผ้าโพกหัว ไม่ว่าจะเป็นใคร ก็ต้องใส่ผ้าโพกหัวลายน้องไก่ Hiyoko-chan น่ารักทุกคน หลังจากฟังการอธิบายคร่าวๆแล้ว ก็ไปที่โต๊ะได้

เริ่มด้วยเอาผงแป้ง (มีแป้ง, มันเทศ, วิตามินผสมรวมอยู่) ใส่เข้าไปในชาม ระหว่างที่ผสมอย่างรวดเร็วด้วยปลายนิ้ว ก็เติมน้ำสำหรับนวดแป้ง (น้ำเกลือและเกลือ) จนเริ่มกลายเป็นก้อน จากนั้นก็นวดไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้ก้อนเท่ากำปั้น ระหว่างนี้พนักงานจะคอยเชียร์อย่างอ่อนโยนว่า "เร็วเข้าเร็วเข้า นวดนวด" แต่งานนี้เหนื่อยมากกว่าที่คิดเอาไว้

ถัดไปคือการนวดแแป้ง อันนี้ก็ยากกว่าที่คิด ถ้าไม่ทิ้งน้ำหนักตัวลงไปด้วย คงทำได้ลำบาก ทำให้ผมคิดได้ว่า การทำเส้นบะหมี่นี่ต้องใช้แรงมากพอดู หลังจากที่ความหนาได้ 1 ซ.ม. ก็เอาเข้าเครื่องทำเส้นบะหมี่ เมื่อหมุนลูกกลิ้ง แผ่นแป้งที่ผ่านลูกกลิ้งออกมาก็จะเรียบ ไม่ใช่แค่หมุน 1 หรือ 2 ครั้ง แต่ต้องหมุนซัก 10 ครั้ง ขั้นตอนเหล่านจะเหมือนกับการทำเส้นอุด้ง ที่ใช้เท้านวดจนปวดเอว ตอนนี้แขนขวาผมเริ่มเมื่อย และมีเหงื่อออกที่หน้าผาก

พอถึงตรงนี้ก็ปล่อยแป้งไว้สักครู่ แล้วก็ไปทำการออกแบบเพ็คเกจอีกครั้ง คราวนี้ผมจะเอาให้สวย ผมคิดอย่างนั้น......แต่ที่ออกมากคือ ชามบะหมี่ที่มีไอน้ำพุ่งออกมา และคำพูดที่ว่า "ทำได้แล้ว" ว้าาา..เสียดายถ้วยเลยทีเดียว

หลังจากแป้งได้ที่แล้ว ก็เอาเข้าเครื่องทำเส้นบะหมี่อีกครั้ง จนความหนา 0.7 มม. และยาว 2 ม. ต่อไปก็ตัดเป็นเส้น โดยใช้กรรไกรตัดเส้นที่ถูกทำให้เป็นลายยาว โดยส่วนตัดของเครื่องทำเส้น ให้ยาว 20 ซม. ซึ่งเป็นความยาวที่ดีที่สุดในการสูดเส้นเข้าปาก แล้วก็วัดน้ำหนักให้ได้ 100 กรัมต่อ 1 จาน

แล้วเส้นก็เสร็จ ระหว่างที่พนักงานต้มเส้นให้ เราก็ทำการวาดรูปต่อ ถึงเวลาที่ต้องสู้กับแพ็คเกจอีกครั้ง เด็กชายประถมที่นั่งตรงข้ามผม เขียนวลีว่า "ราเมนไก่ น้ำร้อน 3 นาที ในหม้อ 1 นาที" อย่างขันแข็ง ช่างเป็นปากกาที่กำหนดรสชาติซะจริงๆ ส่วนเหล่าคุณพยาบาลข้างๆ วาด Hiyoko-chan ทำตุ๊กตาหิมะ ไม่ก็กำลังอาบน้ำหลายแบบ เป็นแพ็คเกจที่สนุกมีสีสัน ผมเลยไม่ยอมแพ้ ใส่แถบสีส้มเข้าไปในพื้นหลัง

ขณะเดียวกันเมื่อต้มเส้นเสร็จ พนักงานก็เทซุปใส่เส้นด้วยทัพพี แล้วเราก็คนเส้นด้วยปลายนิ้ว ระหว่างนี้จะมีเสียงพนักงานบอกว่า "คลายเส้นให้เร็ว คนเส้นให้เร็ว", "คลายเส้นให้ทั่ว เพื่อให้ซุปทั่วถึง" ท่ามกลางความเงียบของทุกคน

จากนั้นก็เอาลงในพิมพ์ทรงบะหมี่ และลงไปทอดในน้ำมัน 160˚C เนื่องจากส่วนนี้อันตรายและยาก พนักงานจึงเป็นผู้ทำให้ พอมีเสี่ยงฟู่ บะหมี่ในน้ำมันก็กลายเป็นสีเหลือง เป็น "วิธีทำให้แห้งด้วยน้ำมันในทันที" ที่คุณ Ando คิดขึ้นตั้งแต่ตอนแรก พอได้เห็นเส้นบะหมี่ตั้งแต่ดิบจนเสร็จเรียบร้อย ทำให้ผมถอนหายใจออกมาว่าเสร็จสักที พอเอาบะหมี่แพ็คลงในแพ็คเกจที่ออกแบบไว้ก็เรียบร้อย ลายแถบสีส้มดูไม่เลว

พอหันไปดูเวลาก็พบว่าผ่านไป 90 นาที แต่รู้สึกว่าเพิ่งผ่านไปเพียงครู่เดียวเอง การได้เห็นแป้งค่อยๆเปลี่ยนไปเป็นเส้นบะหมี่นั้นเพลินมากๆ บรรดาคุณพยาบาลที่นั่งข้างๆผม ต่างก็รู้สึกเช่นเดียวกัน โดยคุยกันว่า "สนุกดีนะ", "ประทับใจที่ได้ทำเอง", "กินง่ายก็จริง แต่ว่าทำยากจังเลย

ผู้ที่จะเข้าร่วม Chicken Ramen Factory นี้ต้องจองล่วงหน้า และค่าเข้าร่วมสำหรับเด็กมัธยมขึ้นไป 500 เยน ส่วนเด็กประถม 300 เยน โดยรับผู้เข้าร่วมที่เป็นเด็กประถมขึ้นไป/ สำหรับเด็กที่อายุ 3 ปีหรือต่ำกว่า จำเป็นต้องมีผู้ปกครอง

อุโมงค์เวลาของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป

หลังโซน "My Cup Noodle" และ "ราเมนไก่" ทำเองแล้ว ็สุดท้ายก็ไปที่อุโมงค์เวลาของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ทางออกจากพิพิธภัณฑ์ ที่นี่จะจัดแสดงแพ็คเกจของบะหมี่กิ่งสำเร็จรูปที่ Nissin Food ผลิตตั้งแต่ "ราเมนไก่" หมายเลข 1 ในปี 1958 จนถึงปัจจุบัน โดยเรียงตามปี รวมแพ็คเกจประมาณ 800 ชนิด คุณจะเข้าใจว่า ไม่กี่ปีให้หลังราเมนไก่ออกสู่ตลาด รสอย่างแกงกะหรี่และยากิโซบะออกมาติดๆ

มีผู้ชายคนหนึ่ง เขาหยุดอยู่หน้าบะหมี่ถ้วยที่ผลิตในปี 1971 บางทีเขาอาจจะนึกถึงสมัยตอนยังเป็นเด็กก็ได้ เมื่อได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของบะหมี่กิ่งสำเร็จรูปแบบนี้ ก็ทำให้หวนคิดถึงอดีต อย่างตอนที่ "Nissin Yakisoba U.F.O." ออกมา ผมก็เต้นเพลงของ Pink Lady ระหว่างที่รอให้ครบ 3 นาที (ดูท่าจะหลุดบอกอายุไปแล้ว......) หรือ อุด้งแพ็คเกจแบบนี้เคยกินตอนเตรียมสอบ ราเมนนี่เป็นเหมือนที่เก็บเรื่องราวของชีวิตเอาไว้ พอใกล้ทางออก ก็จะพบกับราเมนรุ่นล่าสุด เป็นถ้วยแบบรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ สะท้อนกับยุคสมัย ผมประทับใจว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปได้เข้ามาในชีวิตเราอย่างกว้างขวาง และเดินผ่านยุคสมัยไปกับเราด้วย

เพลิดเพลินกับ "การเดินชมประวัติศาสตร์" ที่เมือง Ikeda บ้านเกิดของบะหมี่กึ่ึ่งสำเร็จรูป

เมือง Ikeda ที่ตั้งอยู่ส่วนเหนือของโอซาก้า รุ่งเรืองในฐานะจุดกระจายสิ่งของที่สำคัญมาตั้งแต่โบราณ "Nose Highway" ที่วิ่งผ่านตัวเมืองเหนือไปใต้ เชื่อมต่อบริเวณ Hokusetsu ของโอซาก้า และเขตที่อยู่ด้านใน Nose และ Tamba กับมหานครโอซาก้า แออัดไปด้วยผู้คนขนไม้ซุง, ผ้ากิโมโน, และสุรา ภายในทิวทัศน์เมืองเก่านี้ ก็ยังสามารถเห็นโรงกลั่นที่ทำ "Goshun" และ "Midori-Ichi" สืบต่อกันมา ส่วน "พิพิธภัณฑ์ Rakugo" ก็ให้คุณได้คิดถึงเมือง Ikeda ในสมัย Edo ผ่านการแสดง Kamikata Rakugo อย่าง "Ushihome" หรือ "Ikeda no Inoshishikai" ขอแนะนำให้ชมทิวทัศน์ Ikeda ที่เคยถูกเรียกว่า "เมืองหลวงทางเหนือ" จากบนเนินเล็กที่ "สวนสาธารณะซากปราสาท Ikeda

Back
Back